|
การที่ดวงตาของคนเรามีหน้าที่ในการจ้องมองสิ่งต่างๆรอบตัวเพื่อทำให้คนเรามองเห็นสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลานั้น ทำให้ดวงตามีโอกาสสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอกเช่นลม ฝุ่น หรือแสงแดดอยู่ตลอดเวลา จึงย่อมจะได้รับผลกระทบที่อาจก่อให้เกิดความผิดปรกติหรือโรคต่อดวงตาได้ ถ้าไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ถูกต้อง
โรคตาที่มีสาเหตุจากสิ่งแวดล้อม
ต้อเนื้อ,ต้อลม เป็นความผิดปรกติของเนื้อเยื่อบุตาขาวบริเวณขอบข้างของกระจกตาดำ ที่มีลักษณะนูนหนาขึ้นเป็นก้อนเรียกว่า ต้อลม หรือหนาขึ้นเป็นแผ่นแยกออกจากเยื่อบุตาเดิมและสามารถขยายใหญ่ขึ้นจนลามเข้าบังกระจกตาดำได้เรียกว่า ต้อเนื้อ มีสาเหตุจากการที่ตาสัมผัสกับแสงแดด หรือลมอยู่เสมอ นอกจากนี้ภาวะ ตาแห้งจากสาเหตุต่างๆก็ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนในการก่อโรคนี้เช่นเดียวกัน
โดยทั่วไปโรคต้อเนื้อ,ต้อลมจะมีผลให้รำคาญและรู้สึกไม่สบายตาเท่านั้น ถ้ามีอาการเพียงเล็กน้อยเช่น ระคายเคืองตา คันตา ตาแห้งง่าย การใช้ยาหยอดลดอาการระคายเคือง หรือ น้ำตาเทียม คอยหยอดเวลามีอาการก็เพียงพอและสามารถซื้อใช้เองได้ ถ้ามีอาการตาแดง เจ็บตาจากการอักเสบ อาจต้องให้แพทย์สั่งยาหยอดแก้อักเสบให้เป็นครั้งคราว การผ่าตัดลอกจะทำในกรณีที่เป็น ต้อเนื้อเท่านั้น และมีการอักเสบบ่อยครั้ง จนต้องคอยหยอดยาแก้อักเสบเป็นประจำ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้ หรือต้อเนื้อลามเข้ากระจกตาดำจนมีผลทำให้การมองเห็นลดลง
อย่างไรก็ตาม ต้อเนื้อที่ลอกไปแล้วก็อาจเป็นขึ้นใหม่ได้ ถ้ายังถูกกระตุ้นด้วยแสงแดด ลม ฝุ่น หรืออาการตาแห้งอยู่ตลอด ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงและป้องกันดวงตาจากปัจจัยเสี่ยงและสิ่งกระตุ้นต่างๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ต้อเนื้อหรือต้อลมที่เป็นอยู่เดิมเป็นมากขึ้นด้วย
|
|
คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยต้อเนื้อ, ต้อลม รวมถึงผู้ที่ได้รับการผ่าตัดลอกต้อเนื้อแล้ว
- ใส่แว่นตากันแดด ป้องกันและหลีกเลี่ยงจากแสงแดดจ้า หรือที่ที่มีแสง UV มาก เช่น แสงสะท้อนจากหิมะ, พื้นผิวน้ำ หรือผิวถนน รวมทั้งเวลาขับรถด้วย
- หลีกเลี่ยงฝุ่น ลม ไม่ให้เข้าตา ใส่แว่นตาหรือเครื่องป้องกันตาจากลม ฝุ่นที่อาจเข้าตาเวลาขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือเวลาอยู่กลางแจ้งที่มีลมพัดแรง
- หลีกเลี่ยงโอกาสที่จะทำให้ตาแห้งง่าย เช่น การใช้สายตานานๆในการอ่านหนังสือ ดูทีวี ใช้คอมพิวเตอร์ ขับรถ หรืออยู่ในที่อากาศแห้งหรือเย็นจัด อาจใช้น้ำตาเทียมคอยหยอดหล่อลื่นตาไว้เวลาทำกิจกรรมเหล่านี้ หรือเวลาตาแห้ง
|
|
แสงแดดกับแว่นกันแดด
การเลือกซื้อแว่นตากันแดด ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติพื้นฐาน ดังต่อไปนี้
1. ความสามารถในการป้องกันหรือดูดซับรังสีอุลตร้าไวโอเลต หรือ UV
รังสีอุลตร้าไวโอเลตหรือรังสี UV เป็นรังสีที่มองไม่เห็นประกอบด้วยรังสี UVA, UVB และUVC ซึ่งแตกต่างกันไปตามความยาวคลื่น ที่มีในแสงแดดจะประกอบด้วยรังสี UVA 90% และUVB 10% ส่วน UVC จะถูกกั้นด้วยบรรยากาศชั้นโอโซน ทำให้ไม่ผ่านมาถึงผิวโลก นอกจากนี้ยังมีในแสงที่มาจากงานอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น แสงที่เกิดจากการเชื่อมเหล็ก โคมไฟฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น รังสี UVนี้จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคตาหลายอย่าง เช่น ต้อเนื้อ, กระจกตาอักเสบ, ต้อกระจก และโรคจอประสาทตาเสื่อม ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงจากแสงอุลตร้าไวโอเลตโดยเฉพาะในแสงแดดซึ่งต้องเจอในชีวิตประจำวันโดยการสวมแว่นตากันแดดป้องกัน ตามมาตรฐานของแว่นตากันแดด วัสดุที่ใช้ทำเลนส์จะต้องมีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันรังสี UVB ได้อย่างน้อย 70% และรังสี UVA ได้อย่างน้อย 60% สำหรับวัสดุที่นำมาใช้ทำเลนส์แว่นตากันแดดมีด้วยกันหลายชนิด เช่น วัสดุประเภท polycarbonate มีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันรังสี UV ได้ 99 % ส่วนวัสดุที่เป็นพลาสติก(CR-39) และกระจกจะมีคุณสมบัติในการป้องกันรังสี UV เพิ่มขึ้นได้โดยการเคลือบสารเคมีลงบนผิววัสดุ
ในทางปฏิบัติควรมองหาป้ายรับรองที่ติดมากับแว่นตาว่าสามารถป้องกันรังสี UV ได้มากน้อยเพียงใด ป้ายที่เขียนว่า block UV นั้นไม่ได้ระบุชัดเจนว่าป้องกันรังสี UV ได้เท่าใด สำหรับป้ายที่เขียนว่า UV protection up to 400 nm หมายความว่า สามารถป้องกันรังสี UV ได้ 100% ดังนั้นจึงควรเลือกใช้แว่นตากันแดดที่มีการรับรองว่าสามารถป้องกันรังสี UV ได้ 99-100%
ยังมีสภาวะแวดล้อมบางอย่างจะมีผลต่อโอกาสที่จะได้รับรังสี UV ในระดับที่แตกต่างกัน จึงควรคำนึงถึงด้วย เช่น
- แสงสะท้อนจากธรรมชาติหรือวัสดุผิวเรียบ เช่น หิมะจะสะท้อนรังสี UV ได้สูงถึง 60-80% ในเวลากลางวัน ไม่ว่าจะมีแสงแดดส่องหรือไม่ก็ตาม, ทรายตามชายหาดหรือทะเลทรายจะสะท้อนรังสี UV ประมาณ 15% ขณะที่ผิวน้ำสะท้อนประมาณ 5%
- ระดับความสูง ยิ่งอยู่ที่สูง เช่น บนภูเขายิ่งมีรังสี UV มาก
- ตำแหน่งที่ตั้ง ยิ่งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจะมีโอกาสรับรังสี UV มากกว่าบริเวณอื่นของโลก
- ฤดูกาล จะมีรังสี UV มากที่สุดในฤดูร้อน รองลงมาคือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ตามลำดับ
- ช่วงเวลา มีรังสี UV มากระหว่างเวลา 10:00-16:00 น. และสูงที่สุดในเวลาเที่ยงวัน
- ระยะเวลา ยิ่งอยู่กลางแดดนาน ก็ยิ่งได้รับรังสี UV มากตามไปด้วย
- สภาพอากาศ เมฆหรือหมอกไม่สามารถป้องกันรังสี UV ได้
|
แว่นตาโพลารอยตัดแสงสะท้อน
|
2. การลดความเข้มของแสงแดด หรือแสงสะท้อน
แว่นตากันแดด ควรมีคุณสมบัติที่สามารถลดความสว่างของแสงลงได้ 70-80% เพื่อลดผลกระทบของแสงจ้าต่อการทำงานของจอประสาทตาในการแยกแยะรายละเอียดของวัตถุในที่สว่าง(contrast sensitivity) และความสามารถในการปรับการมองเห็นในที่มีแสงลดลง(dark adaptation) โดยการเลือกสีเลนส์ที่มีความเข้มพอเหมาะ หรือเคลือบเลนส์ด้วยสารกันแสงสะท้อน(anti-reflection) หรือสารสะท้อนแสง(mirror coating) หรือเลือกใช้เลนส์ประเภท polarized เป็นต้น
การเคลือบสีเลนส์ (Gradient tint) มักเคลือบสีเข้มทางด้านบนของเลนส์ แล้วไล่สีจางลงสู่กลางเลนส์ด้านล่าง การเคลือบสีแบบนี้ได้ผลดีในการลดแสงจ้าที่มาจากตำแหน่งเหนือระดับสายตา เช่น ดวงอาทิตย์ เหมาะสำหรับการใส่ขับรถ เพราะยังมองแผงหน้าปัดหน้ารถที่อยู่ใต้ระดับสายตาได้ดี แต่ไม่เหมาะสำหรับใส่เล่นกีฬากลางแจ้ง แว่นตากันแดดสำหรับใส่เล่นกีฬาควรเคลือบสีเข้มทั้งด้านบนและด้านล่าง และไล่สีจางตรงกลาง เพื่อตัดแสงสะท้อนจากพื้นน้ำหรือหิมะด้วย
การเคลือบสารกันแสงสะท้อน (Antireflection) ช่วยลดแสงสะท้อนที่เกิดขึ้นในเนื้อเลนส์แว่นตาที่จะมารบกวนการมองเห็น นอกจากนี้ยังลดแสงสะท้อนที่ผิวเลนส์ด้านนอก ทำให้ผู้อื่นมองเห็นดวงตาของผู้ใส่แว่นตาได้ชัดเจนไม่มีเงาสะท้อนที่ผิวเลนส์ ทำให้ดูเหมือนไม่ได้ใส่แว่นตาดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
การเคลือบสารสะท้อนแสง (Mirror coating) เป็นการลดแสงที่จะเข้าตาโดยการสะท้อนแสงกลับคล้ายกระจกเงา โดยไม่มีผลต่อการมองเห็น ผู้ใส่ยังสามารถมองเห็นผ่านเลนส์ได้เหมือนปรกติ
เลนส์ Polarized เนื้อเลนส์ใสแต่สามารถลดแสงที่จะผ่านเข้าตาได้โดยเนื้อเลนส์จะตัดแสงที่ผ่านเลนส์ให้เหลือเพียงระนาบเดียว เหมาะสำหรับกิจกรรมที่ต้องการการมองเห็นที่ชัดเจนแต่ต้องเจอแสงสะท้อนจากพื้นผิวต่างๆโดยที่ไม่มีแสงแดดจ้า เช่น ขับรถ, เล่นสกี, ตกปลา เป็นต้น
นอกจากนี้ควรเลือกแว่นตากันแดดที่มีรูปทรงที่เหมาะสมและเข้าได้กับลักษณะใบหน้าของแต่ละบุคคล เพื่อให้สามารถปกป้องดวงตาจากแสงที่มาจากมุมต่างๆได้รอบทิศ และต้องคำนึงไว้เสมอว่า การลดทอนความจ้าของแสงแดดและแสงสะท้อนไม่ได้เกี่ยวข้องกับความสามารถในการป้องกันรังสี UV เพราะสารที่ป้องกันรังสี UV ได้นั้นไม่มีสี ความเข้มของสีเลนส์แว่นตากันแดดกับการป้องกันรังสี UV จึงเป็นคนละเรื่องกัน
|
|
3. สีเลนส์แว่นตากับกิจกรรมต่างๆ
การเลือกสีของเลนส์แว่นตาให้เหมาะสมกับกิจกรรมหรืองานที่ทำของแต่ละบุคคล มีส่วนช่วยให้การมองเห็นดีขึ้น
- สีเทา(gray), สีเขียวอมเทา(แบบแว่น Ray-Ban) ลดความเข้มของแสง โดยไม่ทำให้สีของวัตถุผิดเพี้ยน
- สีน้ำตาล(brown) ช่วยเพิ่มความสามารถการมองแยกแยะรายละเอียดของวัตถุในที่สว่างได้ดีมาก(very high contrast) เหมาะสำหรับเมื่อต้องการมองแยกวัตถุต่างๆได้ชัดเจน แต่จะทำให้สีของวัตถุเพี้ยนไป
- สีอำพัน(amber) ช่วยให้มองเห็นวัตถุในระยะไกลได้ดีขึ้น ป้องกันแสงสีฟ้า(blue light) ที่เป็นอันตรายต่อจอประสาทตา เหมาะสำหรับนักบิน คนขับเรือ นักยิงปืน นักสกี
- สีเหลือง(yellow) ช่วยให้มองแยกรายละเอียดของวัตถุ(contrast)ได้ดีขึ้น แต่ทำให้สีของวัตถุดูกระด้าง
- สีชมพู(pink), สีแดง(red) เหมาะสำหรับคนที่มีกล้ามเนื้อตาล้าจากการใช้คอมพิวเตอร์ แต่ก็ทำให้สีเพี้ยนไปด้วย
- สีแดงชาด(vermillion) ช่วยให้มองแยกส่วนที่เป็นน้ำออกจากวัตถุอื่นๆได้ดี แต่ทำให้วัตถุมีสีผิดเพี้ยนมากที่สุด
- สีฟ้า(blue) ช่วยให้มองเห็นวัตถุที่มีสีขาวเช่น หิมะ ได้ดี แต่ก็ทำให้สีอื่นเพี้ยน
|
โรคภูมิแพ้ที่ตา
เหมือนโรคภูมิแพ้ในส่วนอื่นๆของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นที่โพรงจมูก, ไซนัส, หลอดลม หรือปอด คือมีสาเหตุจากการที่
ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ แล้วไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีปฏิกิริยาตอบสนอง มีการหลั่งสารฮีสตามีนออกมา ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ขึ้นในบริเวณอวัยวะนั้นๆ สำหรับดวงตาเป็นอวัยวะที่ไวต่อการตอบสนองและสิ่งกระตุ้น มีโอกาสสัมผัสโดยตรงกับสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอากาศได้ตลอดเวลา ทำให้มีอาการระคายเคืองตา ตาแดง และถึงแม้จะมีน้ำตาคอยเจือจางและชะล้างสารก่อภูมิแพ้ที่มาสัมผัสที่ตาได้ แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการเกิดโรคได้เสมอไป
เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้
ผู้ป่วยจะมีอาการเคือง คันตา, ตาแดง, น้ำตาไหล ซึ่งแยกได้ยากจากโรคเยื่อบุตาอักเสบจากสาเหตุอื่น เช่น การติดเชื้อ และเนื่องจากการรักษาโรคเยื่อบุตาอักเสบแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ผู้ป่วยจึงควรพบจักษุแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
|
การรักษาโรคภูมิแพ้ที่ตา
การรักษาโรคภูมิแพ้ที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงป้องกันไม่ให้สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยาก โดยเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ที่ตาที่ปนเปื้อนหรืออยู่ในอากาศเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่ตาดังนี้ คือ
- สิ่งแวดล้อม: ที่อยู่อาศัย ควรดูแลสภาพภายในบ้านโดยเฉพาะห้องนอน ให้มีที่เก็บกักฝุ่นน้อยที่สุด ใช้วัสดุเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่อมฝุ่น ถอดซักทำความสะอาดได้ และคอยเช็ดทำความสะอาดทุกวันอย่าให้มีฝุ่นเกาะตามที่ต่างๆ เครื่องปรับอากาศควรได้รับการถอดล้างแผ่นกรองอย่างน้อยเดือนละครั้ง อาจทำความสะอาดบ่อยกว่านั้นถ้าสภาพแวดล้อมภายนอกบ้านมีฝุ่นมากเช่น อยู่ใกล้ถนน หรือในที่มีรถยนต์ผ่านไปมามาก และควรล้างภายในเครื่องปรับอากาศตามระยะเวลาที่ทางบริษัทฯกำหนดหรือทุก 6 เดือน การใช้เครื่องฟอกอากาศอาจช่วยลดโอกาศที่จะสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในอากาศให้น้อยลงได้ ห้องต่างๆควรมีระบบระบายอากาศที่ดีหรือเปิดหน้าต่างให้มีการถ่ายเทอากาศบ้าง แต่ต้องระวังถ้าอากาศภายนอกมีฝุ่น หรือควันและมลพิษมาก ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนควรใช้แบบป้องกันไรฝุ่นได้ ซึ่งมีทั้งชนิดเคลือบน้ำยาและแบบเส้นใยทอแน่น แต่คุณสมบัตินี้จะลดลงเมื่อผ้าถูกซักไปหลายๆครั้ง
:: ควรหลีกเลี่ยงอากาศที่มีสารก่อความระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้มากเช่น ควันธูป ควันบุหรี่ สารไอระเหยต่างๆ :: ควรใส่แว่นตากันแดดเวลาออกนอกอาคารสถานที่ เพื่อป้องกันฝุ่น ลมไม่ให้เข้าตา
- รักษาความสะอาดบริเวณเปลือกตาและขนตามากขึ้น นอกเหนือจากการล้างทำความสะอาดใบหน้าตามปรกติ โดยหลังจากอาบน้ำล้างหน้าเสร็จแล้ว ให้ล้างทำความสะอาดเปลือกตาด้วยแชมพูสระผมเด็ก โดยการหลับตาเบาๆแล้วถูล้างที่ขอบเปลือกตา เน้นที่บริเวณขนตาเป็นหลัก ควรทำเป็นกิจวัตรทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น
- ใช้น้ำตาเทียมแบบไม่มีสารกันเสีย( preservative free artificial tear) หยอดตาเมื่อมีอาการระคายเคืองไม่สบายตา คันตา ตาแดง หรือเมื่ออยู่ในที่มีฝุ่นควันมาก เพื่อช่วยชะล้างเอาสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในตาออกไป นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความชื้นที่เยื่อบุตา ทำให้อาการต่างๆลดลง
- ถ้ามีอาการภูมิแพ้ที่ตาเช่น คันตามาก ไม่ควรขยี้ตา การใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งวางประคบขณะหลับตา จะช่วยบรรเทาอาการลงได้มาก ยาหยอดตาแก้แพ้ที่มีสารหดเส้นเลือดและสารต้านสารฮีสตามีน สามารถนำยาหยอดได้เองเป็นครั้งคราวเมื่อมีอาการ แต่ไม่ควรนำมาใช้หยอดต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะมีลักษณะเหมือนติดยา คือ จะทำให้มีอาการมากขึ้น เมื่อหยุดหยอดยาทันที
- อาจจำเป็นต้องใช้ยาหยอดแก้อักเสบ ถ้ามีอาการภูมิแพ้ที่ตามาก โดยต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์ เพราะยาหยอดตาแก้อักเสบบางตัวเช่น ยาที่มีสเตียลอยด์ เมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นจนกลาย เป็นต้อหินได้ในบางราย จึงไม่ควรซื้อยาหยอดตาแก้อักเสบชนิดนี้มาใช้เอง แต่ใช้ภายใต้การตรวจติดตามดูแลของแพทย์เท่านั้น
- ถ้าอาการภูมิแพ้รุนแรงและมีอาการแสดงในหลายระบบของร่างกาย แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการฉีดยากระตุ้นภูมิหรือ Immunotherapy ซึ่งจะทำให้ควบคุมโรคได้ดีขึ้น ช่วยให้สามารถลดหรือหยุดยาหยอดตาได้
โรคภูมิแพ้จัดเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือในการดูแลตัวเองของผู้ป่วยเป็นสำคัญ แพทย์เป็นเพียงผู้ช่วยวางแนวทางในการดูแลรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการรักษา คือ ตัวผู้ป่วยเอง
|