source:PhotoDisc

วัยเด็ก

โดยทั่วไปแล้วดวงตาของเด็กแรกเกิดจะมีพัฒนาการทั้งด้านกายภาพและการมองเห็นที่เกือบจะสมบูรณ์อยู่แล้วเมื่อแรกคลอด โดยในขวบปีแรกจะเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ ลักษณะทางกายภาพของดวงตาเด็กที่เราเห็นจะมีลักษณะคล้ายของผู้ใหญ่แต่มีขนาดเล็กกว่า อย่างไรก็ตามความผิดปรกติอะไรก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อดวงตาและการมองเห็นในช่วงอายุ 10 ปีแรก ก็จะมีผลอย่างมากต่อความสามารถในการมองเห็นของเด็กในอนาคต


ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองผู้ดูแลเลี้ยงดูเด็กควรสังเกตุอาการผิดปรกติต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตาของเด็ก แล้วขอคำปรึกษาจากจักษุแพทย์เพื่อดูว่าเป็นโรคหรือไม่ ไม่ควรคิดว่าเป็นสิ่งปรกติของเด็กที่จะดีขึ้นเองเมื่อโตขึ้น เพื่อที่จะได้ให้การรักษาเสียแต่เนิ่นๆซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลดี เด็กสามารถมีพัฒนาการด้านการมองเห็นเป็นไปตามปรกติได้




ช่วงขวบปีแรก


อาการที่ต้องพบแพทย์ทันที
  1. ในเด็กทารกแรกคลอดที่มีเปลือกตาบวมแดง มีขี้ตามาก เกาะติดเปลือกตาทำให้ลืมตาลำบาก และเป็นในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด มีสาเหตุจากโรค เยื่อบุตาอักเสบติดเชื้อ (conjunctivitis neonatorum) ถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องรีบให้การรักษาทันที
  2. กระจกตาดำเป็นฝ้าขาว (Neonatal corneal opacity) หรือเห็นกลางรูม่านตาเป็นสีขาว (Leukocoria) เป็นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ต้อกระจกแต่กำเนิด (Congenital cataract), เนื้องอก Retinoblastoma และการอักเสบในลูกตาส่วนหลัง เป็นต้น
  3. ตาดำมีขนาดใหญ่กว่าปรกติ ร่วมกับมีอาการน้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ อาจเป็นอาการของโรคต้อหินแต่กำเนิด (Congenital glaucoma) ซึ่งการให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆสามารถทำให้หายจากโรคได้
  4. เด็กอายุ 2-3 เดือน แต่ยังไม่จ้องหน้าพ่อแม่หรือไม่มองตามวัตถุ หรือไม่ตอบสนองต่อแสงไฟตรงหน้า
อาการที่ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำ
  1. ตาแฉะ มีน้ำตาตลอดเวลา ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุได้ 1-2 เดือนแล้วยังไม่หาย อาจมีสาเหตุจากโรคท่อน้ำตาอุดตันแต่กำเนิด (Congenital nasolacrimal duct obstruction)
  2. ตาเข เป็นลักษณะที่ตาดำทั้งสองข้างไม่ได้มองไปยังจุดหรือทิศทางการมองเดียวกัน ต้องแยกระหว่างภาวะ เสมือนตาเขหรือตาเขปลอม (Pseudostrabismus) กับ ตาเขจริง (Strabismus)



ตาเขปลอม                ตาเขจริง


source:PhotoDisc

เด็กอายุ 3-5 ปี หรือวัยก่อนเข้าเรียน

เด็กในช่วงอายุ 3-5 ปี เด็กอนุบาลหรือเด็กก่อนวัยเรียน ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อค้นหาความผิดปรกติทางสายตา (สายตาสั้น,ยาว,เอียง) ที่อาจมีอยู่เดิมและสังเกตุได้ยาก เด็กอาจแสดงอาการ เช่น ชอบดูหรือมองวัตถุใกล้ๆ หยีตามอง เพ่ง หรือเอียงคอมอง การไม่ได้รับการแก้ไขความผิดปรกติของสายตาในเวลาที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดโรค ตาขี้เกียจ (Amblyopia) ซึ่งจะทำให้ระดับการมองเห็นลดลงไปตลอดได้ แพทย์จะพิจารณาว่าความผิดปรกติทางสายตาที่เด็กมีจำเป็นต้องได้รับการรักษาแก้ไขด้วยแว่นสายตา หรือคอยเฝ้าระวังตรวจติดตามเป็นระยะ


เด็กวัยเรียน-วัยรุ่น

นอกจากปัญหาทางสายตาที่เป็นปัญหาหลักของเด็กในวัยนี้ ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาทุก 2-3 ปี อาการผิดปรกติอื่นที่พบได้บ่อย ได้แก่ กระพริบตาถี่ ชอบขยี้ตา คันตา ตาแดง เป็นๆหายๆ ซึ่งเป็นอาการของโรค เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ ( Allergic conjunctivitis ) เด็กอาจมีประวัติโรคภูมิแพ้ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ การให้การรักษาและดูแลอย่างเหมาะสม จะช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปรกติสุข


ในปัจจุบันเด็กในช่วงอายุนี้จนไปถึงวัยทำงาน มีการใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียน การทำงาน หรือเพื่อความบันเทิงกันอย่างมาก จนแทบจะเป็นเรื่องปรกติในชีวิตประจำวัน ทำให้มีโอกาสเกิดอาการผิดปรกติของดวงตาจากผลกระทบจากการใช้คอมพิวเตอร์ ( Computer vision syndrome ) ตามมาได้ ถ้าดูแลการใช้สายตาไม่ถูกสุขลักษณะ

source:PhotoDisc

วัยทำงาน

ในคนปรกติทั่วไปในช่วงอายุ 20-40 ปี มักไม่พบความผิดปรกติของดวงตา นอกจากที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือจากการทำงานที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม มีการใช้สายตาไม่ถูกสุขลักษณะ หรือละเลยการป้องกันผลกระทบที่เกิดจากการทำงาน ( Occupational hazard )
    อาการที่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ
  1. อาการตาล้า ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ ตาพร่ามัวบางครั้ง อาการดีขึ้นหลังพักสายตา พบในคนที่มีการใช้สายตามาก ต้องจ้องมองอะไรระยะเดียวนานๆ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ ดูโทรทัศน์,จอมอนิเตอร์ต่างๆ อ่านหนังสือ หรือขับรถ ขณะที่มีอาการอาจไม่สัมพันธ์กับการใช้สายตาขณะนั้นก็ได้ เป็นอาการที่เกิดจากภาวะตาล้า ( Eye strain ) หรือกลุ่มอาการที่เป็นผลกระทบจากการใช้คอมพิวเตอร์ ( Computer vision syndrome )
  2. อาการแสบเคืองตา น้ำตาไหล สู้แสงลำบาก รู้สึกตาแห้งไม่สบายตา มักมีอาการช่วงที่มีการใช้สายตาต่อเนื่องนาน อยู่ในที่อากาศแห้งเย็น เช่น ในศูนย์การค้าห้างสรรพสินค้า ขณะขับรถ หรืออยู่กลางแจ้งที่มีลมแสงแดดมาก เวลาหลับ ตาหรือกระพริบตาถี่ๆจะดีขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะอาการของภาวะตาแห้ง ( Dry eye ) หรือโรคที่ผิวเยื่อบุตา เช่น ต้อลม ( Pingecula ), ต้อเนื้อ ( Pterygium ) เป็นต้น
  3. ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ควรได้พบจักษุแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปรกติที่ตา และขอคำแนะนำในการดูแลสุขภาพตาตั้งแต่แรกที่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคเบาหวาน และควรเข้ารับการตรวจติดตามเป็นระยะตามที่แพทย์นัด เนื่องจากโรคเบาหวานขึ้นตา ( Diabetic retinopathy ) เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะตาบอดในผู้ใหญ่วัยทำงาน




ผู้ใหญ่(อายุ 40 ปีขึ้นไป)และผู้สูงอายุ(อายุ 55 ปีขึ้นไป)

ในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปจะเริ่มมีปัญหาในการมองวัตถุระยะใกล้ไม่ชัด หรือที่เรียกว่ามีภาวะสายตายาวจากอายุ ( Presblyopia ) ซึ้งถือว่าเป็นภาวะเสื่อมอย่างหนึ่งของร่างกาย ดังนั้นในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุวัยนี้เป็นต้นไป จะเริ่มมีโอกาสที่จะเกิดความผิดปรกติของตาจากภาวะเสื่อมของร่างกายได้มากขึ้นเรื่อยๆตามอายุที่เพิ่มขึ้น จึงควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอทุก 2-3 ปีเพื่อค้นหาความผิดปรกติของดวงตาที่อาจเริ่มมี แต่ยังไม่แสดงอาการให้เรารู้สึก จะได้ให้การดูแลป้องกันหรือรักษาก่อนที่จะมีผลกระทบต่อการมองเห็น และในผู้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
โรคตาสำคัญที่เป็นสาเหตุของตาบอดในผู้ใหญ่ ได้แก่
  1. ต้อกระจก ( Cataract )
  2. ต้อหิน ( Glaucoma )
  3. โรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ( Diabetic retinopathy )
  4. จอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก ( Retinal detachment )
  5. จอประสาทตาเสื่อม ( Age related macular degeneration )



©๒๕๕๑ นพ.ยุทธนา สุคนธทรัพย์