|
องค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดการรับรู้ภาพได้ดี จะต้องประกอบด้วยส่วนสำคัญสี่ส่วนที่สมบูรณ์ ได้แก่
- ส่วนของลูกตาที่เป็นทางผ่าน หรือทางเดินของแสงต้องใส ทำให้ภาพสามารถผ่านเข้าไปถึงจอประสาทตาในลูกตาส่วนหลังได้อย่างสมบูรณ์
- ภาพที่ผ่านเข้ามาในลูกตาต้องได้รับการปรับระยะและความคมชัด ให้ภาพที่ไปตกที่จอประสาทตาในลูกตาส่วนหลังมีความคมชัดที่สุด
- จอประสาทตาสามารถเปลี่ยนภาพเป็นสัญญาณประสาท และส่งผ่านไปถึงสมองส่วนที่เกี่ยวกับการมองเห็นได้
- สมองสามารถแปลงสัญญาณประสาทกลับเป็นรูปภาพได้อย่างถูกต้อง
ถ้ามีองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ จะส่งผลให้การรับรู้ภาพผิดปรกติไป ทำให้มีการมองเห็นที่ผิดปรกติ อาจมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือเป็นมากจนถึงขั้นมองไม่เห็นได้ ขึ้นกับชนิดของความผิดปรกติและความรุนแรงของโรคที่เป็น เช่น
- ภาวะสายตาผิดปรกติ(สั้น,ยาว,เอียง) เกิดจากความผิดปรกติในการปรับความคมชัดของภาพที่ไปตกที่จอประสาทตา สามารถแก้ไขให้เห็นได้ปรกติด้วยแว่นสายตา,คอนแทคเลนส์ หรือการผ่าตัดแก้ไขสายตา
- โรคต้อกระจก เกิดจากเลนส์แก้วตาขุ่น ทำให้แสงผ่านเข้าตาได้น้อยลง มองเห็นภาพขุ่นมัวไม่ชัด การมองเห็นจะลดลงเรื่อยๆตามความรุนแรงของโรค สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้ดีอีกครั้งด้วยการผ่าตัดเอาต้อกระจกออกและใส่เลนส์แก้วตาเทียม ซึ้งต้องให้การรักษาก่อนที่โรคจะเป็นมากจนมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้ว
- โรคต้อหิน มีความผิดปรกติของขั้วประสาทตาจากการสูญเสียเซลประสาทที่อยู่ในชั้นจอประสาทตา มักพบร่วมกับความดันลูกตาสูง การรักษาทำได้เพียงควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามทำลายเซลประสาทตาเพิ่มขึ้น ไม่สามารถทำให้ส่วนของประสาทตาที่สูญเสียการมองเห็นไปแล้วกลับมาเห็นปรกติได้อีก
|