อาการผิดปรกติทางตา จากการใช้คอมพิวเตอร์ (Computer Vision Syndrome)

อาการตาล้า กับ คอมพิวเตอร์

การใช้คอมพิวเตอร์สามารถก่อให้เกิดกลุ่มอาการความผิดปรกติที่สัมพันธ์กับการใช้สายตาไม่ถูกสุขลักษณะได้ อันเป็นผลจากการที่มีภาวะกล้ามเนื้อตาล้า หรือที่เรียกว่า “อาการตาล้า”หรือ eye strain ซึ่งมีอาการแสดงออกได้หลายรูปแบบตั้งแต่อาการเคืองตา ตาแห้งง่ายเวลาใช้สายตา มองสู้แสงลำบาก การปรับโฟกัสภาพช้าลงทำให้เวลามองวัตถุระยะใกล้แล้วมองไปที่วัตถุที่อยู่ไกลไม่ชัด หรือรู้สึกว่ามองวัตถุที่อยู่ไกลได้ชัดน้อย ลงคล้ายกับสายตาสั้นเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าไปเปลี่ยนแว่นสายตาเพิ่มเองโดยไม่ได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ก่อน จะทำให้มีปัญหาเรื้อรัง คือช่วงเปลี่ยนแว่นตาใหม่ๆจะมองเห็นได้ชัดเจนดี แต่เมื่อใช้ไปซักระยะจะรู้สึกตามัวอีก ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย จนระยะหลังจะมีอาการปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ อาจมีอาการคลื่นไส้จนถึงอาเจียนได้ บางรายอาจมีอาการปวดต้นคอ หลัง ไหล่ร่วมด้วยเนื่องจากมีลักษณะท่านั่งทำงานไม่เหมาะสม มีรายงานจากผลการศึกษาผลกระทบจากการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์พบว่า ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน จะมีอาการแสดงอย่างใดอย่างหนึ่งของอาการตาล้ามากถึง 90%


โดยธรรมชาติแล้ว ตาของคนเรามีไว้สำหรับมองวัตถุในระยะไกลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อตาอยู่ในภาวะคลายตัว แต่เมื่อสภาพแวดล้อมในการทำงานของคนเราเปลี่ยนไป ทำให้เราต้องมาทำงานที่อาศัยการมองวัตถุในระยะใกล้มากขึ้น นานขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อตาต้องเกร็งตัวต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือบ่อยขึ้น มีการกระพริบตาน้อยลง แม้แต่เวลาพักผ่อนหรือว่างจากการทำงานเราก็ยังใช้สายตาจ้องมองในระยะใกล้เป็นส่วนใหญ่เช่น การดูโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ ทำให้เกิดอาการล้าของกล้ามเนื้อตาและอาการตาแห้งตามมา ซึ่งจะเกิด ขึ้นได้ง่าย และมีอาการได้มากกว่าในคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน มากกว่าคนที่ใช้การเขียนหรืออ่านตัวหนังสือ


ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากหลายปัจจัย กล่าวคือ ในภาวะทั่วไปตาคนเราจะกระพริบประมาณ 22 ครั้งต่อนาที ขณะอ่านหนังสือจะกระพริบ 10 ครั้งต่อนาที แต่จะเหลือเพียง 7 ครั้งต่อนาทีเมื่อใช้คอมพิวเตอร์ นอกจากนี้การที่ตัวอักษรในคอมพิวเตอร์ไม่ได้เรียบคมชัดเท่าตัวพิมพ์ มีความไม่นิ่งของคลื่นสัญญาณในจอ(refreshment) การมีแสงสะท้อนจากหน้าจอ รวมถึงระยะห่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างจากระยะการอ่านหนังสือ ทำให้การมีความผิดปรกติของสายตาเพียงเล็กน้อย หรือการนำแว่นสายตาสำหรับมองไกลหรือแว่นอ่านหนังสือมาใช้ดูคอมพิวเตอร์อาจก่อให้เกิดอาการตาล้าได้ง่ายขึ้น


อย่างไรก็ตามจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้มีอันตรายในแง่ของการแผ่รังสี หรือแสงที่ทำให้เกิดโรคตามมา อาการผิดปรกติที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการทำงานที่ไม่ถูกสุขลักษณะเท่านั้น


ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์

ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเกิดอาการตาล้าจากการใช้คอมพิวเตอร์(computer vision syndrome) ได้แก่

1.สถานที่ทำงาน
  1. จอภาพ
    • ควรใช้จอแบน LCD จะช่วยลดการสะท้อนแสง หลีกเลี่ยงการใช้จอแก้ว และหมั่นรักษาความสะอาดที่จอ อย่าให้มีฝุ่นเกาะ
    • ยิ่งมี pixels มาก ยิ่งให้ความคมชัด(resolution)สูง
    • เลือกที่มีค่า refresh rate สูง(ปรกติจะอยู่ประมาณ 60 Hz.) เพื่อลดการรับรู้ถึงการสั่นไหวของภาพ(flickering sensation)ให้น้อยที่สุด
    • เลือก dot pitches เล็ก(น้อยกว่า 0.28 มม.) ช่วยให้ได้ภาพสีที่เรียบชัด
    • เลือกใช้ตัวอักษรเข้มบนพื้นจอสีอ่อน ตัวอักษรดำบนพื้นขาวให้ความแตกต่างของสีดีที่สุด
    • ปรับความสว่าง(brightness) และความแตกต่างของสี(contrast) ให้สามารถมองภาพได้คมชัดและสบายตาที่สุด โดยใช้หลักความสว่างเป็นสัดส่วน 10:3 คือ ตัวอักษรควรมีความสว่างเป็น 10 เท่าของพื้นจอ และแสงในห้องทำงานควรสว่างเป็น 3 เท่าของพื้นจอ
    • ขนาดตัวอักษรควรใหญ่เป็น 3 เท่าของขนาดตัวหนังสือที่เล็กที่สุดที่สามารถอ่านได้ในภาวะปรกติทดสอบโดยถอยระยะห่างจากจอไป 3 เท่าของระยะทำงาน แล้วยังสามารถอ่านหนังสือบนจอได้
  2. การจัดวางองค์ประกอบ
    • ควรจัดวางจอภาพให้มีระยะห่างจากตาประมาณ 18-30 นิ้ว
    • ขอบบนสุดของจอควรอยู่ระดับเดียวกับสายตา หรือต่ำกว่าสายตาเล็กน้อย โดยให้จุดศูนย์กลางของจออยู่ต่ำกว่าระดับสายตา 10-20 องศา และเอียงทำมุมขึ้นเล็กน้อย
    • แท่นพิมพ์ควรวางอยู่ในระดับต่ำกว่าจอ โดยให้ข้อมือและแขนขนานไปกับพื้น และไม่อยู่ในลักษณะเอื้อมไปข้างหน้า
    • โต๊ะควรสูงพอสำหรับมีที่ว่างให้เข่าไม่ติดโต๊ะ
    • เก้าอี้ควรมีที่หนุนหลัง และปรับระดับสูงต่ำได้ ให้ฝ่าเท้าวางราบไปกับพื้น ต้นขาขนานไปกับพื้น อาจมีที่วางข้อศอกและแขนเพื่อลดอาการล้าที่หัวไหล่ แขน และข้อมือ
    • เอกสารสิ่งพิมพ์ หรือหนังสือควรวางอยู่ในระดับและระยะเดียวกับจอภาพ และมีแสงส่องสว่างแยกเฉพาะ โดยมีความสว่างใกล้เคียงกับที่จอ

2. แสงไฟ (lighting)

แสงที่จ้าเกินไปจะทำให้เกิดแสงสะท้อนที่จอภาพ ทำให้มองเห็นภาพที่จอลำบาก ดังนั้นการจัดวางตำแหน่งต้นกำเนิดแสง หรือความสว่างของห้อง ก็มีส่วนสำคัญต่อการทำงานด้วย
  1. ปิดม่านหน้าต่างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีแสงแดดหรือแสงสว่างจากภายนอกส่องเข้ามาในห้องโดยตรง
  2. แหล่งกำเนิดแสงสว่างไม่ควรอยู่ทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ควรมาจากด้านข้างของจอภาพ และไม่ควรใช้แสงสว่างส่องตรงจากเหนือศีรษะหรือส่องกระทบโดยตรงบริเวณที่ทำงาน การใช้ระบบไฟส่องสว่างแบบตกกระทบจะมีความเหมาะสมกับการทำงานมากกว่า แสงห้องทำงานที่สว่างเกินไปจะก่อให้เกิดแสงสะท้อนที่จอได้ง่าย ทำให้รู้สึก ไม่สบายตา วิธีทดสอบทำได้โดยปิดจอภาพ แล้วสังเกตว่ามีแสงสะท้อนหรือไม่ ปรกติไม่ควรมี ถ้ามีต้องพยายามหาวิธีลดแสงสะท้อนจากแหล่งกำเนิดแสงนั้นให้มากที่สุด
  3. ไฟส่องสว่างสำหรับต้นแบบพิมพ์ หรือหนังสือควรใช้ไฟที่มีกำลังต่ำ หรือสามารถปรับความสว่างได้ ส่องโดยตรง และไม่ให้บริเวณที่ส่องไฟสว่างกว่าหน้าจอ เพื่อป้องกันการเกิดแสงสะท้อนที่จอ
  4. อาจใช้แผ่นกันแสงสะท้อน(antireflection screen)ติดหน้าจอภาพ

3. พฤติกรรมการใช้สายตา (visual habit)

  1. แว่นตา
    • ในผู้ที่มีความผิดปรกติทางสายตาอยู่เดิม(สั้น,ยาว,เอียง) จำเป็นที่จะต้องมีแว่นสายตาสำหรับใส่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยการมองเห็นให้ดีขึ้น ลดการเพ่ง ช่วยป้องกันการเกิดอาการตาล้าได้ ดังนั้นในการทำงานหรือใช้สายตากับคอมพิวเตอร์ จึงควรใช้แว่นสายตาที่วัดมาเฉพาะสำหรับการมองเห็นที่ดีที่สุดที่ระยะการทำงานกับจอภาพเท่านั้น
    • ถ้าต้องการใช้แว่นตาที่มองได้ 2 ระยะเวลาทำงาน ควรใช้แว่นตาเลนส์ 2 ชั้น(bifocal)แบบแบ่งครึ่งเลนส์ flat top แบ่งครึ่งบน-ล่าง โดยเลนส์ครึ่งบนมีระยะโฟกัสภาพที่จอคอมพิวเตอร์ ครึ่งล่างใช้สำหรับอ่านหนังสือ หรือมองระยะใกล้
    • ถ้าเป็นแว่นตาที่มองได้ 3 ระยะ(trifocals) หรือมองได้หลายระยะ(multifocals) เลนส์ช่วงกลางควรมีระยะกว้างมากกว่าปรกติและมีระยะโฟกัสสำหรับมองจอคอมพิวเตอร์
  2. การพักสายตา
    • ขณะทำงานควรมีการหยุดพักสายตาเป็นระยะๆ ไม่ควรใช้สายตาต่อเนื่องนานหลายชั่วโมง
    • ทุก 15-30 นาที ควรพักสายตาโดยการหลับตา หรือมองออกไปไกลๆระยะตั้งแต่ 6 เมตรขึ้นไปนานประมาณ 2-3 นาที
    • ทุก 1 ชั่วโมง ควรหยุดทำงาน ลุกขึ้นยืนหรือเดินเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถนาน 3-5 นาที
    • ทุก 3-4 ชั่วโมง ควรหยุดพักงานนาน 15-20 นาที ควรเดินไปรอบๆ ไม่ควรนั่งอยู่กับที่ระหว่างนี้ไม่ควรใช้สายตาจับจ้องมองอะไรอยู่เฉพาะที่ใดที่หนึ่ง อาจทำงานที่ไม่ต้องใช้สายตาได้ เช่น การพูดคุยหรือสั่งงานทางโทรศัพท์ แต่ถ้าเป็นไปได้ ดีที่สุดคือควรนอนราบและหลับตาไว้ระยะหนึ่ง
  3. การนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา
    ควรทำในระหว่างพักหรือเมื่อเสร็จสิ้นงานในแต่ละวัน เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อตาจากอาการล้าได้
    • นวดด้วยฝ่ามือ ให้วางข้อศอกลงบนโต๊ะ หงายฝ่ามือขึ้น โน้มตัวทิ้งน้ำหนักไปทางด้านหน้า แล้ววางศีรษะลงบนฝ่ามือ ให้เบ้าตาวางอยู่บริเวณด้านล่างของฝ่ามือนิ้วมือวางอยู่บนหน้าผาก ระวังอย่าให้มีแรงกดลงที่ลูกตา หลับตาสูดหายใจเข้าลึกๆช้าๆทางจมูก กลั้นหายใจไว้ประมาณ 4 วินาที แล้วผ่อนหายใจออกช้าๆ สูดหายใจเข้า-ออกแบบนี้สลับกันต่อเนื่องประมาณ 5-10 รอบ
    • ใช้การประคบด้วยน้ำอุ่นและน้ำเย็น ใช้ผ้าหรือ hot/cold pack gel แช่น้ำร้อนพอประมาณระวังอย่าให้ร้อนมากเกินไป เนื่องจากผิวหนังที่เปลือกตาเป็นส่วนที่บอบบางที่สุด ง่ายต่อการเกิดผิวหนังพุพองด้วยความร้อน วางผ้าประคบเบ้าตาไว้ประมาณ 30 วินาที แล้วสลับวางด้วยผ้าแช่น้ำเย็น(น้ำเย็นใช้น้ำที่แช่น้ำแข็ง) ให้สลับประคบด้วยความร้อน-เย็นแบบนี้ต่อเนื่องประมาณ 2 นาที แล้วจึงใช้ผ้าแห้งเช็ดนวดที่เบ้าตาเบาๆ
  4. การบริหารกล้ามเนื้อตา
    การบริหารกล้ามเนื้อตาประจำ จะช่วยป้องกันการเกิดอาการตาล้าจากการใช้สายตาที่ต้องจับจ้องอะไรต่อเนื่องเป็นเวลานานๆเช่น การใช้คอมพิวเตอร์ ดูจอมอนิเตอร์,โทรทัศน์,ภาพยนตร์ อ่านเขียนหนังสือ หรือขับรถได้
    • near-far focus exercise
      • จ้องมองที่นิ้วหัวแม่มือตัวเองระยะห่างประมาณครึ่งฟุต พยายามมองให้เห็นภาพชัดตลอดเวลา พร้อมกับสูดลมหายใจเข้าออกช้าๆ จากนั้นมองออกไปยังวัตถุที่อยู่ไกลระยะห่างประมาณ 3-4 เมตร จ้องมองให้ภาพชัดตลอดเวลาพร้อมกับสูดลมหายใจเข้าออกช้าๆ ทำสลับไปมาต่อเนื่องอย่างนี้ประมาณ 15 รอบ
    • convergence exercise
      • นั่งตัวตรง มองไปยังจุดไกลสุดตรงหน้า
      • ถือปากกาให้อยู่ระดับสายตา ยื่นออกไปสุดแขน จ้องมองที่ปลายปากกา
      • ค่อยๆเคลื่อนปากกาเข้าหาตาช้าๆ มองปลายปากกาให้เห็นภาพชัดเป็นภาพเดียวตลอดเวลา เลื่อนปากกาเข้ามาใกล้ตาให้มากที่สุดเท่าที่ยังสามารถมองภาพได้ชัดเป็นภาพเดียว จนรู้สึกว่า ต้องเพ่งตามากหรือรู้สึกตึงตา หยุดมองปากกาที่ระยะนี้ประมาณครึ่งนาที แล้วค่อยๆเลื่อนปากกาออก คอยมองปลายปากกาให้ชัดตลอดเวลา จนถึงระยะสุดแขน หยุดมองปลายปากกาที่ระยะนี้อีกครึ่งนาที แล้วจึงเริ่มต้นเคลื่อนปากกาเข้าหาตาใหม่ ทำซ้ำแบบเดิม
      • ทำสลับเข้าออกถือเป็น1รอบ ให้ทำต่อเนื่องอย่างน้อย10 รอบต่อครั้ง ควรทำในช่วงเช้าและหลีกเลี่ยงการบริหารในช่วงที่ยังมีอาการตาล้าอยู่ หรื่อเหนื่อยจากการทำงาน ควรทำหลังจากได้พักหรือรู้สึกสดชื่นแล้ว ในช่วงแรกของการบริหารอาจรู้สึกมีอาการปวดตา ปวดศีรษะเพิ่มขึ้นบ้าง จึงยังไม่ควรทำเยอะ แต่เมื่อทำต่อเนื่องไป อาการจะค่อยๆดีขึ้นใน 2-3 สัปดาห์ ควรเพิ่มทำการ บริหารเป็น 2 ครั้งในสัปดาห์ที่สองและ 3 ครั้งในสัปดาห์ที่สาม อาจทำต่อเนื่องกันไปทีเดียว หรือแบ่งบริหารในช่วงเวลาที่สะดวกในแต่ละวันก็ได้ แต่ควรทำทุกวัน
ควรทำการบริหารกล้ามเนื้อตาอย่างต่อเนื่อง 2-3 เดือน หลังจากนั้นอาจทำบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อไม่ให้เกิดอาการตาล้าขึ้นมาได้ง่ายอีก

4. การใช้น้ำตาเทียม

ควรใช้น้ำตาเทียมแบบที่ไม่มีสารกันเสียหยอดตาในช่วงที่ใช้สายตาต่อเนื่องทุก 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันเยื่อบุตาแห้งและยังช่วยทำให้รู้สึกสบายตาขึ้น อาจลดหรือเพิ่มความถี่ในการหยอดได้ตามอาการ และเนื่องจากน้ำตาเทียมแบบนี้ไม่มีสารกันเสียที่อาจระคายเคืองเยื่อบุตาได้ จึงสามารถนำมาใช้ต่อเนื่องได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง และผู้ป่วยสามารถซื้อมาใช้เองได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์
<< หน้าแรก©๒๕๕๑ นพ.ยุทธนา สุคนธทรัพย์